ทำความรูจักกับ บูเดจิเก หม้อไฟเกาหลี
ต้นกำเนิดเมนู "บูเดจิเก" หม้อไฟเกาหลี
บูเดจิเก เริ่มทำขึ้นในช่วงระหว่างสงครามเกาหลี และได้รับความนิยมอย่างมากภายหลังจากนั้น ในขณะที่ชาวเกาหลีประสบภาวะอาหารขาดแคลนในช่วงสงครามเกาหลี ชาวเกาหลีนำส่วนผสมที่เหลือทิ้งจากกองทัพอเมริกันเช่นเนื้อกระป๋องและฮอตดอกหรืออย่างอื่นที่หาได้มาผสมรวมกันแล้วรับประทาน โดยส่วนผสมทั้งหมดผสมในหม้อใบใหญ่แล้วต้ม ในช่วงแรกอาหารประเภทนี้ถูกเรียกว่า ชนซึนทัง (존슨 탕) ซึ่งได้ชื่อมาจากนามสกุลจอห์นสันของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาลินดอน บี. จอห์นสัน กับคำว่า ทัง (탕, 湯) ซึ่งมีความหมายว่าซุป
เมืองอึยจ็องบู (ซึ่งเป็นเมืองที่ติดกับโซลทางทิศเหนือและมีฐานทัพอเมริกันหลายแห่ง) มีชื่อเสียงจากอาหารบูเดจิเก ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทางเมืองได้ออกข้อกำหนดให้เรียกชื่ออาหารนี้ว่า อึยจ็องบูจีแก เพื่อถอนคำว่า พูแด ซึ่งแปลว่ากองทัพหรืออะไรที่เกี่ยวกับการทหารออกไป มีเพียงร้านอาหารไม่กี่แห่งที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ มิหนำซ้ำร้านอาหารบางแห่งยังเพียงแค่เติมชื่อเมืองโดยไม่ถอนคำว่า พูแด ออกไปเป็นชื่อ อึยจ็องบูบูแดจีแก และที่อึยจ็องบูยังมีถนนซึ่งมีชื่อเรียกว่า "ถนนอึยจ็องบูบูแดจีแก" เป็นถนนที่สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านอาหารที่ขายบูเดจิเก
บูเดจิเก คืออะไร ? และมีอะไรบ้าง ?
บูเดจิเก (เกาหลี: 부대찌개, แปลว่า "สตูกองทัพ") เป็นอาหารประเภท จีแก (ซุปเกาหลีมีลักษณะเหมือนกับสตูของตะวันตก) ไม่นานนักหลังจากสงครามเกาหลี อาหารเป็นที่ขาดแคลนไปทั่วทั้งโซล ผู้คนจำนวนหนึ่งจึงใช้วัตถุดิบที่เหลือจากกองทัพสหรัฐอเมริกาที่ประจำการในเกาหลีใต้ ในพื้นที่รอบ ๆ อึยจ็องบูและพย็องแท็ก (หรือซงทันในขณะนั้น) หรือมุนซัน วัตถุดิบประกอบไปด้วยฮอตดอก, เนื้อกระป๋อง (สแปม) หรือแฮม ผสมกันลงไปในน้ำซุปรสเผ็ดดั้งเดิมของเกาหลีปรุงรสด้วย โคชูจัง (พริกแดงที่มีลักษณะเหนียว) และกิมจิ
พูแดจีแกยังคงได้รับความนิยมอยู่ในเกาหลีใต้ โดยในปัจจุบันมักผสมเครื่องปรุงสมัยใหม่เข้าไปด้วย เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อเมริกันชีสที่หั่นเป็นแผ่นบาง ๆ ส่วนเครื่องปรุงอื่น ๆ ก็ประกอบไปด้วยเนื้อบด, ไส้กรอกหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ, ถั่วกระป๋อง, มีนารี, หอมใหญ่, หอมต้นเดี่ยว, ต็อก, เต้าหู้, พริก, มะกะโรนี, กระเทียม, เห็ด และผักอื่น ๆ ตามฤดูกาล